โครงการ

โครงการการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ ๑๒

Thailand Chemistry Olympiad (12th TChO)

มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา

ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วันที่ ๖ – ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙

___________________________________________________________

๑. ผู้รับผิดชอบโครงการ

            ๑.๑ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.)

            ๑.๒ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

๒. หลักการและเหตุผล

            มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เล็งเห็น ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการสาขาต่างๆ ในระดับนานาชาติ มูลนิธิ สอวน. จึงได้มอบให้มหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค ๑๑ แห่ง และ โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร ๖ โรงเรียน เป็นศูนย์ สอวน. เพื่อดำเนินการอบรมและเตรียมความพร้อม รวมทั้งคัดเลือกนักเรียนเข้าไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับประเทศ ตลอดจนเตรียมครูวิทยาศาสตร์ ครูคณิตศาสตร์ให้มีคุณภาพและมีความพร้อมที่จะช่วยพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียน ซึ่งได้ดำเนินการ มาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๓ โดยมีสาขาที่ดำเนินการ ๖ สาขา คือ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ และในปีการศึกษา ๒๕๔๗ ได้เพิ่มศูนย์ สอวน. ขึ้นอีก ๒ ศูนย์ คือ ศูนย์ สอวน. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และศูนย์ สอวน. โรงเรียนเตรียมทหาร โดยการดำเนินการที่ผ่านมามีผลสัมฤทธิ์ ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ สอวน. คือ สามารถคัดเลือกนักเรียนจากศูนย์ สอวน. ไปเป็นตัวแทน แข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้พัฒนาความรู้และเพิ่มศักยภาพของครูจาก โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ในปี พ.ศ.๒๕๔๘ มูลนิธิ สอวน. ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการสนับสนุนให้สาขาวิชาต่างๆ จัดแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับประเทศโดยการคัดเลือกนักเรียนที่ผ่านการอบรมค่าย ๒ เพื่อเป็นตัวแทนศูนย์ สอวน.ภูมิภาค จำนวน ๑๓ ศูนย์ ศูนย์ละ ๖ คน และศูนย์กรุงเทพมหานคร ที่จัดคัดเลือกตัวแทนนักเรียน จำนวน ๑๘ คน รวมทั้งสิ้น ๙๖ คน นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ เป็นต้นมา มูลนิธิ สอวน. ยังได้เพิ่มนักเรียนนอกโครงการพิเศษเข้าร่วมการแข่งขันด้วย โดยนักเรียนทั้งหมด มาสอบแข่งขันโดยใช้ข้อสอบ มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งออกโดยคณะกรรมการวิชาการกลางและมีอาจารย์พร้อมครูสังเกตการณ์ของแต่ละศูนย์ ร่วมพิจารณาคัดเลือกข้อสอบ เกณฑ์การให้คะแนนตลอดจนประเมินผลและตัดสินผลการแข่งขันด้วยมาตรฐาน เดียวกับการแข่งขัน International Chemistry Olympiad (IChO) จัดรางวัลให้เป็นเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง และประกาศเกียรติคุณ จากนั้นจึงคัดเลือกนักเรียนที่สอบผ่านเกณฑ์จำนวน ๕๐ คน เพื่อเข้าค่ายเคมีโอลิมปิก ค่ายที่ ๑ ของ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ต่อไป สำหรับสาขาเคมีได้ดำเนินการจัดแข่งขันโอลิมปิก สอวน. มาแล้ว ๑๑ ครั้ง โดยครั้งที่ ๑๑ จัดขึ้นเมื่อ ๑-๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของ กิจกรรมดังกล่าว มูลนิธิ สอวน. จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันเคมีโอลิมปิก ระดับชาติ ครั้งที่ ๑๒ โดยมีกำหนดจัดช่วงวันที่ ๖ – ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙

 

๓. วัตถุประสงค์

            ๓.๑ เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาวิชาเคมีระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้ทัดเทียม

                  นานาประเทศ

            ๓.๒ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงความสามารถด้านสติปัญญาและพัฒนาศักยภาพของ

                   ตนเองให้สูงขึ้น รวมทั้งให้นักเรียนที่เป็นตัวแทนศูนย์ต่างๆ ได้เข้าร่วมแข่งขันวิชาการ  

                   สาขาเคมีในระดับประเทศ

            ๓.๓ เพื่อให้คณาจารย์จากศูนย์ต่างๆ ได้ฝึกประสบการณ์ในการจัดการแข่งขันโอลิมปิก

                   วิชาการสาขาเคมี สอวน. รวมทั้งได้ร่วมกันวางแผนและพัฒนาหลักสูตรการอบรม 

                    ตลอดจนพัฒนาอุปกรณ์การปฏิบัติการและอุปกรณ์การเรียนการสอนให้ได้มาตรฐาน

            ๓.๔ เพื่อให้ครูสังเกตการณ์จากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศได้มีประสบการณ์ในการจัด 

                    แข่งขันวิชาการสาขาเคมีระดับประเทศ

            ๓.๕ เพื่อคัดเลือกนักเรียนเป็นตัวแทนสอบแข่งขันเข้ารับการอบรมเข้ม โดยสถาบันส่งเสริม

                   การสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในระดับสูงต่อไป

 

๔. ระยะเวลาการแข่งขันและสถานที่

            ๔.๑ กำหนดการแข่งขัน วันที่ ๖ – ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙

            ๔.๒ สถานที่จัดแข่งขัน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา


๕. ผู้เข้าร่วมโครงการ

            การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ จะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากศูนย์ สอวน. วิชาเคมีทั่วประเทศ จำนวน ๑๔ ศูนย์ และนักเรียนนอกโครงการพิเศษ ดังรายละเอียดต่อไปนี้    


สรุปจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม ดังนี้

นักเรียนที่เข้าแข่งขัน                                         จำนวน ๑๐๓   คน

อาจารย์ผู้แทนศูนย์                                           จำนวน  ๓๒   คน

ครูสังเกตการณ์                                               จำนวน   ๑๖   คน

คณะกรรมการฝ่ายวิชาการ                                  จำนวน   ๒๐  คน

คณะกรรมการและอนุกรรมการดำเนินการฝ่ายต่างๆ    จำนวน   ๗๕  คน

นักศึกษาพี่เลี้ยง                                               จำนวน  ๒๐  คน

                                                       รวม           จำนวน ๒๖๖ คน

๖. รูปแบบการแข่งขัน

    ๖.๑ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องสอบวิชาเคมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ อย่างละ ๕ ชั่วโมง ตาม

          วันและเวลาที่กำหนด

    ๖.๒ การประเมินผลสอบวิชาเคมีใช้คะแนน ภาคทฤษฎี : ภาคปฏิบัติ ในอัตราส่วน ๖๐ : ๔๐

    ๖.๓ คณะกรรมการฝ่ายวิชาการเป็นผู้จัดทำข้อสอบต้นฉบับ โดยมีอาจารย์ผู้แทนศูนย์และ

          ครูสังเกตการณ์ของแต่ละศูนย์ร่วมพิจารณาข้อสอบและเกณฑ์การให้คะแนน

    ๖.๔ การตรวจข้อสอบ การประเมินและตัดสินผลสอบ ดำเนินการ โดยคณะอนุกรรมการฝ่าย

          วิชาการ

    ๖.๕ อาจารย์ผู้แทนศูนย์ สามารถเสนอความเห็นเกี่ยวกับผลการประเมินการสอบของผู้เข้าแข่งขัน

          ต่อคณะอนุกรรมการวิชาการได้ แต่การตัดสินผลการแข่งขันอยู่ในอำนาจของอนุกรรมการ

          ฝ่ายวิชาการเท่านั้น

    ๖.๖ คณะอนุกรรมการวิชาการกำหนดเกณฑ์การมอบรางวัล ซึ่งแบ่งเป็น ๔ ระดับ คือ เหรียญทอง

          เหรียญเงิน เหรียญทองแดง และประกาศเกียรติคุณ โดยมีอาจารย์ผู้แทนศูนย์และ

          สังเกตการณ์ของแต่ละศูนย์ร่วมพิจารณาเกณฑ์

   ๖.๗ ผู้เข้าแข่งขันที่ได้คะแนนในอันดับที่ ๑-๕๐ จะได้รับการคัดเลือกเพื่อเข้าค่ายเคมีโอลิมปิก    

         ค่ายที่ ๑ ของ สสวท.ต่อไป

 

๗. งบประมาณ

รายรับส่วนหนึ่งได้รับจากมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปภัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) โดยแบ่งเป็นงบประมาณ รายจ่ายดังนี้ 

๑. ฝ่ายประสานงานวิชาการ                                                     ๒๐๐,๐๐๐ บาท

๒. ฝ่ายดำเนินการสอบและรายงานคะแนน                                     ๑๐,๐๐๐ บาท

๓. ฝ่ายพิธีการ                                                                         ๘,๐๐๐ บาท

๔. ฝ่ายประชาสัมพันธ์                                                              ๑๒,๐๐๐ บาท

๕. ฝ่ายสถานที่และโสตทัศนูปกรณ์                                               ๕,๐๐๐ บาท

๖. ฝ่ายที่พักและยานพาหนะ                                                    ๕๐๐,๐๐๐ บาท

๗. ฝ่ายกิจกรรมนักเรียนและทัศนศึกษา                                         ๕๐,๐๐๐ บาท

๘. ฝ่ายอาหาร จัดเลี้ยง และสวัสดิการ                                        ๓๕๕,๐๐๐ บาท

๙. ฝ่ายลงทะเบียนและเลขานุการ                                              ๑๒๐,๐๐๐ บาท

(ค่าจัดทำสูจิบัตร เอกสาร รางวัล ของที่ระลึก ประกันอุบัติเหตุ ค่าวัสดุ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ)

๑๐. ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าล่วงเวลา และค่าตอบแทน                              ๒๔๐,๐๐๐ บาท

๑๑. ค่าเดินทาง                                                                    ๕๐๐,๐๐๐ บาท

                                                                      รวม         ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท

หมายเหตุ  ถัวเฉลี่ยค่าใช้จ่ายทุกรายการ

๘. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

       ๘.๑ นักเรียนได้แสดงความสามารถด้านสติปัญญาและพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงขึ้น
       ๘.๒ คณาจารย์จากศูนย์ฯ และครูสังเกตการณ์จากโรงเรียนฯ มีประสบการณ์ในการจัดการ

              แข่งขันวิชาการสาขาเคมีระดับประเทศ

       ๘.๓ คณาจารย์จากศูนย์ต่างๆ สามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการจัดการแข่งขันไปใช้

             ในการพัฒนาหลักสูตร และอุปกรณ์การปฏิบัติการและอุปกรณ์การเรียนการสอนของ

             โรงเรียนให้ได้มาตรฐาน

       ๘.๔ นักเรียนที่เป็นตัวแทนสอบแข่งขันโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

             (สสวท.) สามารถได้รับรางวัลจากการแข่งขันระดับนานาชาติ

 

 








© ภาควิชาเคมี  คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา